ทำไมต้องบูรณาการประสาทสัมผัส
ในเด็กปกติเมื่อได้รับการส่งเสริมให้เด็กสามารถรับรู้ความรู้สึกผ่านการเห็น การได้ยิน การรับรส การได้กลิ่น การสัมผัส การทรงตัว การเคลื่อนไหวและการรับรู้ผ่านเอ็น ข้อต่อและกล้ามเนื้อได้อย่างสมบูรณ์ มีการบันทึกข้อมูลความรู้สึก ปรับระดับความรู้สึกโดยมีการบูรณาการการรับรู้ความรู้สึก (SensoryIntegration) แยกแยะความรู้สึก และการตอบสนองเพื่อการปรับตัว โดยผ่านการทำงานของสมองและระบบประสาท ทำให้เด็กสามารถเติบโตได้ตรงตามวัย จะสามารถรับรู้ เรียนรู้และมีทักษะในการประพฤติปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำกิจวัตรประจำวันที่บ้าน ที่โรงเรียน สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง ซึ่งการที่เด็กมีทักษะในการจัดการระบบการรับความรู้สึกได้เร็ว (0-7 ปี) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สมองเด็กกำลังพัฒนาใน 1-3 ปีแรกเด็กจะมีสร้างคลังข้อมูลการรับความรู้สึกแต่ละด้านอย่างเป็นระบบ สามารถจัดเก็บและนำมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้เด็กพร้อมสำการเรียนรู้ทุกประเภท มีความมั่นใจ ค้นพบความสามารถในด้านที่ตนถนัดได้
โดยความเป็นจริงแล้ว ในสมัยก่อน คนรุ่นเก่าได้รับการบูรณาการระบบประสาทความรู้สึกจากภูมิปัญญาไทยโดยพ่อแม่ปู่ย่าตายายจะกระตุ้นระบบรับความรู้สึกทุกด้าน ตั้งแต่วัยแบเบาะ เช่น การเห่กล่อมในอ้อมแขน การนอนในเปลที่แกว่งไกว พร้อมฟังเพลงเห่กล่อมและมองปลาตะเพียน เมื่อเติบโตในแต่ละวัย จะมีการเล่นที่ช่วยกระตุ้นระบบรับความรู้สึกอย่างต่อเนื่อง เช่น ตบแผละ การหัดร้องเพลงรำไทยง่ายๆ การเล่นใช้เชือกคล้องตามนิ้วและทำเป็นรูปเรขาคณิต พรายกระซิบ ซ่อนหา เล่นชิงช้ากับต้นไม้ ปืนก้านกล้วย หมากเก็บ อีตัก อีมอญซ่อนผ้า วิ่งกะลา วิ่งผลัด วิ่งเปรี้ยว ตั้งเต่ขี่ม้าโยกเยก ขี่ม้าส่งเมือง เป่ากบ กระโดดเชือก ชักคะเย่อ เป็นต้น รวมทั้งมีการอาบน้ำขัดขมิ้น น้ำต้มใบมะขาม ซึ่งเป็นการนวดลำตัว การกระตุ้นระบบรับความรู้สึกของเด็กทุกรูปแบบและการฝึกให้เด็กมีนิ้วมือแขนขาที่แข็งแรง รวมทั้งมีประสาทสัมพันธ์ที่ดี ที่สำคัญมาก คือหัดให้เด็กรู้จักรอคอยและเรียนรู้กับกฎกติกามาตั้งแต่เล็ก เราจะสังเกตได้ว่าคนรุ่นเก่าหรือคนที่ได้รับการเลี้ยงดูในวัยเด็กเช่นนี้จะมีภูมิปัญญาติดอยู่ในตัวของตัวเอง
เนื่องด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป สิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลง เช่น จากการอยู่เป็นชุมชน หมู่บ้าน มีใต้ถุน กลายเป็น อพาร์ทเมนท์ คอนโด บ้านเช่า สิ่งแวดล้อมมีมลพิษ ปัจจัยด้านสถานที่จำกัดประสบการณ์การรับความรู้สึกของเด็ก รวมถึงปัจจัยขัดขวางด้านแรงจูงใจการทำกิจกรรม ละแวกบ้านไม่มีเด็กวัยใกล้เคียงลูก ปัจจัยด้านเศรษฐกิจบีบให้พ่อแม่ต้องทำงานหนัก ไม่มีเวลาเล่นกับลูก หรือพาลูกไปเปิดประสบการณ์การรับความรู้สึกได้อย่างสม่ำเสมอ การมีสิ่งเพลิดเพลินของเด็กแทนการเล่นเช่น แทปเลต คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ เป็นต้น ทำให้เด็กเหล่านี้ขาดประสบการณ์การรับความรู้สึก
เด็กปกติส่วนมากที่ขาดประสบการณ์การรับความรู้สึกแล้วอาจมักแสดงออกเป็นปัญหาในด้านต่างๆ มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับฐานการรับความรู้สึกแต่ละคนว่าสะสมมากน้อยเพียงใด ได้แก่
- ปัญหาลายมือ ปัญหาการใช้นิ้วมือและการใช้มือ
- ปัญหาการพูด การใช้ภาษาและการสื่อสาร
- ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์
- ปัญหาการควบคุมตนเอง
- ปัญหาการปรับตัวตามสถานการณ์
- ปัญหาการช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจำวัน
- ปัญหาการซุนซนอยู่ไม่นิ่ง วอกแวกเปลี่ยนความสนใจง่าย
- ปัญหาหุนหันพลันแล่น หงุดหงิดโมโหง่าย
- ปัญหาความรู้สึกไร้คุณค่า ไม่รู้สึกภาคภูมิใจในตนเองและหมดความเชื่อมั่นในตนเอง
- ปัญหาความสำเร็จทางด้านการเรียน
- ปัญหาสมาธิและความสนใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ได้รับมอบหมาย
- ปัญหาการเขียนการอ่าน
- ปัญหาการคิดรวบยอด
- ปัญหาการใช้เหตุผล
- ปัญหาความแข็งแรงของร่างกาย แขนขา
- ปัญหาประสาทสัมพันธ์
- ปัญหาการเรียนรู้
ซึ่งการทำกิจกรรมในห้องกระตุ้นระบบประสาทสัมผัส 7 ด้านผ่านห้อง Snoezelen ซึ่งมีอุปกรณ์ครบครัน ทันสมัย ปลอดภัย ยึดความต้องการทางประสาทรับความรู้สึกของเด็กเป็นศูนย์กลาง ดูแลโดยนักกิจกรรมบำบัดผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินความต้องการการรับความรู้สึก และวิเคราะห์กิจกรรมส่งเสริมการบูรณาการประสาทความรู้สึก ผ่านอุปกรณ์กระตุ้นการรับความรู้สึกในรูปแบบต่างๆแล้ว สามารถตอบโจทย์ในการป้องกัน และแก้ปัญหาการรับความรู้สึกในแต่ละด้านของเด็กที่ผู้ปกครองมีข้อจำกัดทางด้านเวลาหรือสถานที่ในการส่งเสริมการบูรณาการประสาทความรู้สึกของลูกได้ดี เด็กเกิดผลลัพธ์จากการบูรณาการประสาทความรู้สึกจากการฝึกฝน พัฒนา ต่อยอดไปสู่ความสามารถในการเรียนและการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเต็มศักยภาพ
การใช้ห้องกระตุ้นประสาทสัมผัส สามารถใช้ได้กับบุคคลทุกเพศ ทุกวัย ส่วนมากนิยมใช้กับผู้รับบริการเด็กเพื่อปรับสมดุลอารมณ์ ความตื่นตัว กระตุ้นการรับรู้เรียนรู้ และผู้สูงอายุเพื่อผ่อนคลาย หรือกระตุ้นการรับรู้ โดยมีการประเมินความต้องการการรับสัมผัสผู้รับบริการ ใช้อุปกรณ์จัดกิจกรรมสัมพันธ์กับกรอบอ้างอิงที่ชื่อว่า “Sensory Integration” (Jean A. Ayres, 1972 & 1979) สามารถกระตุ้นให้เด็กมีพัฒนาการและมีพฤติกรรมที่เหมาะสมตามศักยภาพของเด็กได้ มีผลงานการวิจัยและการบำบัดที่เห็นผลได้จริง ได้รับการยอมรับทั่วโลก อาจกล่าวได้ว่าการใช้ห้องกระตุ้นประสาทสัมผัสเป็นเทคนิคการบำบัดรักษาอีกทางหนึ่ง (Non-directive therapy) โดยนักกิจกรรมบำบัดเป็นผู้ประเมิน วิเคราะห์ และออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน
คุณพ่อคุณแม่อาจสงสัยว่าการบูรณาการประสาทรับความรู้สึก หรือ “Sensory Integration” คืออะไร? เด็กมีการรับรู้ข้อมูลผ่านระบบประสาทสัมผัสได้อย่างไร? ห้อง Snoezelen คืออะไร? สัมพันธ์กับ SI อย่างไร? ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม หรือหากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามกับ นักกิจกรรมบำบัดโดยตรงที่ศูนย์พัฒนาการและการเรียนรู้สำหรับเด็กโรงพยาบาลบีแคร์เมดิคอลเซนเตอร์ โทรศัพท์ 02-523-3359 ต่อ 1135 หรือ 1143