ทำไมลูกถึงอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้?
คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยไหมค่ะ ว่าทำไมลูกถึงอ่านหนังสือไม่ออก อ่านตกหล่น อ่านข้ามบรรทัด สะกดคำไม่ถูกหรือสับสนตัวอักษรที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น ด ต ภ ถ และ เขียนหนังสือไม่ได้ สับสนในการม้วนหัวเข้าหรือหัวออก เขียนพยัญชนะหรือตัวเลขสลับกันในตัวที่คล้ายคลึงกัน เช่น ด-ต ภ-ก b-d 6-9 และการเว้นช่องไฟในการเขียน โดยการอ่านและการเขียนนั้นเป็นทักษะที่สำคัญในวัยเรียน ถ้าหากเด็กไม่สามารถทำได้ก็จะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ เมื่อเกิดขึ้นบ่อยครั้งจะทำให้เด็กรู้สึกคับข้องใจและอาจจะนำไปสู่การปฏิเสธการอ่านและการเขียนหนังสือได้
พื้นฐานสำคัญที่มีผลต่อความสามารถด้านการอ่าน เรียกว่า การรับรู้ทางสายตา (Visual Perception)
การรับรู้ทางสายตา (Visual Perception) คือ ความสามารถในการประมวลผลข้อมูลในสิ่งที่มองเห็นจากประสบการณ์ที่เคยเรียนรู้มาก่อน เพื่อแปลผลข้อมูลและสื่อความหมายในสิ่งต่าง ๆ ที่เห็น เช่น เด็กสามารถจดจำตัวอักษร ก – ฮ ได้ เมื่อเจอตัวอักษร ก เด็กจะสามารถแยกแยะและออกเสียง กอ ได้
การรับรู้ทางสายตา (Visual Perception) ที่มีผลต่อความสามารถด้านการอ่านมีดังนี้
· การแยกภาพออกจากพื้น (Figure-Ground Discrimination) คือความสามารถในแยกแยะวัตถุออกจากพื้นที่อยู่ด้านหลัง เช่น การแยกแยะตัวหนังสือออกจากกระดานที่ลบไม่สะอาด การใช้สายตาเพื่อค้นหาคำบางคำในประโยคหรือบทความ ยังรวมไปถึงทักษะการค้นหาวัตถุบางอย่างจากวัตถุที่อยู่ปะปนกันหลาย ๆ ชิ้น เป็นต้น
· การรับรู้ความคงที่ของรูปทรงหรือวัตถุ (Form Constancy) คือความสามารถในการรับรู้รูปร่าง รูปทรงที่มีความแตกต่างกันด้านตำแหน่ง สี และขนาด เด็กที่มีความบกพร่องในด้านนี้จะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าตัวอักษร ข.ไข่ ในหนังสือกับตัวอักษร ข.ไข่ที่อยู่บนกระดาน หรือขนาดและสีที่เปลี่ยนไปคือตัวอักษร ข.ไข่เหมือนกัน
· การรับรู้ตำแหน่งและทิศทาง (Position in space) คือความสามารถในการรับรู้ตำแหน่งและทิศทาง เช่น ล่าง บน นอก ใน ด้านหน้า ด้านหลัง ในเด็กที่มีความบกพร่องจะทำให้เด็กสับสนตัวอักษรหัวเข้าและหัวออก เช่น ถ – ภ ค – ด, d-b, 6-9
· การรับรู้มิติสัมพันธ์ (Spatial Relation) คือความสามารถในการรับรู้ถึงความสัมพันธ์ของช่องว่างหรือระยะห่างระหว่างบุคคลกับวัตถุและวัตถุหนึ่งกับอีกวัตถุหนึ่ง ในเด็กที่มีความบกพร่องในด้านนี้ เด็กจะมีปัญหาในการสะกดคำ
· การรับรู้ภาพรวมของภาพที่ขาดหายไป (Visual Closure) คือความสามารถทางสายตาที่สามารถบอกได้ว่ารูปทรงหรือรูปภาพนั้นคืออะไรเมื่อเห็นภาพเพียงบางส่วน เด็กที่มีความบกพร่องในด้านนี้จะไม่สามารถอ่านคำที่มีตัวอักษรไม่ครบได้ เช่น กระด_ษ, บ้_น เป็นต้น
การรับรู้ทางสายตา (Visual Perception) ที่มีผลต่อความสามารถด้านการเขียนมีดังนี้
· สหสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ (Eye-Hand Coordination) เป็นความสามารถในการเคลื่อนไหวประสานกันระหว่างตาและมือ เด็กที่มีความบกพร่องในด้านนี้จะไม่สามารถควบคุมการเขียนตัวอักษรให้พอดีกับบรรทัดได้ อาจเขียนตัวอักษรเล็กหรือใหญ่เกินไป ไม่สามารถลากเส้นตามเส้นประได้ตรง ลอกงานบนกระดานได้ช้า และมีความยากลำบากในการใช้กรรไกรอีกด้วย
· การรับรู้ตำแหน่งและทิศทาง (Position in Space) คือความสามารถในการรับรู้ตำแหน่งและทิศทาง เช่น ล่าง บน นอก ใน ด้านหน้า ด้านหลัง ในเด็กที่มีความบกพร่องจะทำให้เด็กสับสนในการเขียนตัวอักษรหัวเข้าและหัวออก เช่น ถ – ภ ค – ด เป็นต้น การเขียนหนังสือกลับหัว กลับด้าน การเติมสระและวรรณยุกต์ผิดตำแหน่ง
· การรับรู้มิติสัมพันธ์ (Spatial Relation) คือความสามารถในการรับรู้ถึงความสัมพันธ์ของช่องว่างหรือระยะห่างระหว่างบุคคลกับวัตถุและวัตถุหนึ่งกับอีกวัตถุหนึ่ง ในเด็กที่มีความบกพร่องด้านนี้ จะมีปัญหาในการเขียนเว้นวรรค เว้นช่องไฟ และเขียนเรียงลำดับตัวอักษรไม่ถูกต้อง รวมไปถึงการเขียนหนังสือตก ๆ หล่น ๆ อีกด้วย
· การรับรู้ภาพรวมของภาพที่ขาดหายไป (Visual Closure) คือความสามารถทางสายตาที่สามารถบอกได้ว่ารูปทรงหรือรูปภาพนั้นคืออะไรเมื่อเห็นภาพเพียงบางส่วน เด็กที่มีความบกพร่องในด้านนี้จะไม่สามารถเติมคำในช่องว่างได้ เช่น ยี_ _ ฟ, ด_กไม้ เป็นต้น
ไม่เพียงแต่การรับรู้ทางสายตาเท่านั้นที่มีผลต่อความสามารถด้านการเขียนของเด็ก นอกจากนี้ยังมีทักษะสำคัญอื่น ๆ ที่เป็นพื้นฐานของการเขียน ได้แก่
1. ทักษะการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก (Fine Motor skills) ประกอบด้วยกำลังกล้ามเนื้อมือในการกำมือและหยิบจับวัตถุ ความทนทานและความคล่องแคล่วในการใช้มือหยิบจับวัตถุ รวมถึงลักษณะการหยิบจับดินสอที่ถูกต้องสมบูรณ์ (Dynamic tripod grasp) ในเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านนี้จะส่งผลให้จับดินสอไม่ถูกต้อง ควบคุมการใช้อุปกรณ์เครื่องเขียนได้ลำบาก ล้าง่ายขณะเขียนหนังสือ
2. การควบคุมกล้ามเนื้อลำตัว (Trunk Control) ประกอบไปด้วย การควบคุมในการทรงท่า (Postural Control) คือการที่เด็กนั่งตัวตรงอย่างมั่นคงบนเก้าอี้โดยไม่ใช้แขนช่วยจับโต๊ะหรือเก้าอี้ไว้ การทรงท่าที่ดีจะช่วยส่งเสริมให้เด็กสามารถเคลื่อนไหวแขนและมือทั้งสองข้างได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ยังต้องอาศัยการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ (Motor control) ที่ดีช่วยให้สามารถกำหนดทิศทาง กะแรง กะระยะได้อย่างเหมาะสมช่วยให้แขนและมือเคลื่อนไหวได้อย่างแม่นยำ เด็กที่มีความบกพร่องในด้านนี้จะไม่สามารถนั่งตัวตั้งตรงได้เป็นเวลานาน มักจะนั่งหลังงอและเอียงไปพิงโต๊ะหรือเก้าอี้
3.ความมั่นคงของข้อต่อส่วนต้น (Proximal Joint Stability) ในที่นี้คือ ความสามารถในการหดตัวของกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อไหล่เพื่อให้ข้อต่อมีความมั่นคง ส่งผลต่อความสามารถในการควบคุมข้อต่อส่วนปลายซึ่งได้แก่ ข้อมือและนิ้วมือได้ดี แต่ในเด็กที่มีข้อไหล่หลวมจะทำให้เกิดความยากลำบากต่อการควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กซึ่งเกิดผลกระทบต่อด้านการเขียนโดยตรง
การประเมินการรับรู้และทักษะในด้านต่างๆ ของเด็กสามารถทำได้ตั้งแต่เด็กยังเล็กก่อนเข้าโรงเรียน เพื่อรับคำแนะนำและแนวทางการส่งเสริมตั้งแต่เริ่มแรกเพื่อป้องกันหรือลดปัญหาดังกล่าว
ท่านสามารถสอบถามหรือขอคำปรึกษาเบื้องต้นได้ที่ นักกิจกรรมบำบัด ศูนย์พัฒนาการและการเรียนรู้สำหรับเด็ก โรงพยาบาลบี.แคร์ เมดิคอลเซนเตอร์ โทร 02-5233359-71 ต่อ 1135 หรือ 1143